วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล

เย็นวันศุกร์เกือบห้าโมงเย็น ได้ตัดสินใจไปพักบ้าน ธรรมชาติ ขับรถคู่ใจไปอย่างไม่เร่งรีบประมาณ 80 กิโลต่อชั่วโมง ไปตามถนนสายอาเซียหมายเลข 4 ราว 25 กิโลเมตรถึงสี่แยกก็เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนทางหลวงหมายเลข 406 ไปอย่างสบาย มีรถไม่มากนักสองข้างทางมีสวนยาง สวนผลไม้ เช่นลำไย สวนเงาะ สวนทุเรียน ลองกอง สวนยาง และสวนปาลม์ข้างหลังต้นไม้มองไกลออกไปอีก จะเห็นทิวเขาเป็นเงาทอดยาวทับซ้อนกันเหมือนภาพเขียนที่แลเงาหนักเบา ลมพัดตลอดท้องฟ้ามีแสงของพระอาทิตย์เป็นสีเหลืองทองส่องกระทบกระจกรถ แดดเริ่มอ่อนตัว นานๆมีรถสวนมาให้เห็น บางช่วงก็ผ่านชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้ถนน ขับมาได้ประมาณ 20 กว่ากิโลเริ่มเห็นเพิงหลังคามุงสังกะสีบ้าง หรือบางแห่งมีโต๊ะตั้งวางผลไม้ต่างๆ มีร่มใหญ่กางสีแดง สีฟ้า บางครั้งก็เป็นสีเขียวตั้งเป็นหย่อมๆข้างทาง มีผลไม้วางไว้ขายผู้ที่ขับรถผ่านไปผ่านมา มีเงาะ ลองกอง ทุเรียน มังคุด จำปาดะ ที่ก้านเหล็กของร่ม จะมีลูกสะตอแขวนเป็นพวงๆ แกว่งไปมาตามกระแสลมที่มาปะทะ เห็นสะตอที่มีฝักงามเม็ดสะตอเรียงตัวเป็นระเบียบโอนเอีนง หมุนไปมา ทำให้นึกอยากรับประทานผัดสะตอขึ้นมา นานแล้วที่ไม่ได้รับประทานผัดสะตอ พรุ่งนี้เช้าจะต้องเข้าตลาดไปหาซื้ออุปกรณ์ในการผัดสะตอให้แม่นิดทำเป็นอาหารกลางวันให้...คิดแล้วยิ่งอยากรับประทาน

เช้าวันเสาร์หลังใส่บาตรพระเรียบร้อยก็เข้าตลาด ทุกๆเสาร์จะเป็นวันนัด มีแม่ค้าจากที่ต่างๆนำเอาผัก ผลไม้ ปู ปลา กุ้ง สินค้าอื่นๆเข้ามาขายมากกว่าปกติ ได้เดินดูเห็นชาวบ้านนำสะตอสดมากๆและฝักสวยมาขาย 3 ฝัก 10 บาท ได้เลือกไว้ 9 ฝัก และถามแม่ค้าว่าเป็นสะตอชนิดไหน แม่ค้าบอกว่าเป็นสะตอข้าว โดยทั่วไปสะตอจะมี 2 ชนิดคือสะตอข้าวทีได้ซื้อ มีลักษณะฝักเป็นเกลียว แต่ที่ซื้อมานั้นไม่เป็นเกลียวนะ แต่แม่ค้ายืนยันว่าเป็นสะตอข้าวแน่ๆ ฝักจะยาวประมาณ 31 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม. จำนวนเมล็ดต่อฝักประมาณ 10-20 เมล็ด จำนวนฝักต่อช่อ



ประมาณ 8-20 ฝัก เมล็ดมีกลิ่นไม่ฉุน เนื้อเมล็ดไม่ค่อยแน่น อีกชนิดเรียกว่าสะตอดาน ฝักมีลักษณะตรงแบนไม่บิดเบี้ยว ยาวประมาณ 32 ซม. ความกว้างจะกว้างกว่าสะตอข้าวเล็กน้อย มีเมล็ดต่อฝักประมาณ 10-20 เมล็ด จำนวนฝักต่อช่อประมาณ 8-15 ฝัก เมล็ดมีกลิ่นฉุน เนื้อเมล็ดแน่น
สรรพคุณทางยาของสะตอ มีผลต่อความดันโลหิต ผลต่อการแบ่งตัวของเซล ผลยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ผลของการเกาะกลุ่มของเมล็ดเลือดแดง ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ในตำราไทยใช้เมล็ดสะตอขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะปวดขัดหรือกะปริบกะปรอย หรือขุ่นข้น หรือมีเลือดไหล หรือเกี่ยวกับไตพิการ มีอาการแน่นท้อง รับประทานอาหารไม่ได้
การนำสะตอมาทำอาหาร สามารถทำอาหารได้หลายอย่างแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่นผัดสะตอ ในแต่ละเมืองทำแตกต่างกันไป มีผัดสะตอเครื่องแกง ผัดสะตอใส่หน่อไม้กับเครื่องแกง ผัดสะตอเปรี้ยวหวาน ผัดสะตอกับกะปิ นอกจากนั้นสามารถใส่ในแกงเช่นแกงเหลืองบางคนเรียกแกงส้ม แกงหน่อไม้กับกะทิบางคนชอบรับประทานแกงนี้กับขนมที่เรียกว่าต้ม ( เป็นข้าวเหนียวห่อด้วยใบกะพ้อมัดเป็นสามเลี่ยม) สะตอเริ่มออกมาขายมากขึ้นในระยะนี้ แต่ยังไม่มากราคายังแพง การมีสะตอแสดงให้เห็นว่าใกล้ถึงวันทำบุญเดือนสิบซึ่งเป็นเดือนกันยายน จะมีการทำบุญใหญ่ให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีประชาชนไปวัดมักจะทำแกงสมรมประกอบด้วยหน่อไม้กับสะตอมีกุ้งตัวเล็กใส่กะทิ แล้วมีขนมต้มเป็นของคู่กันจะทำเป็นพวง เพื่อให้วิญาณบรรพบุรุษสามารถนำกลับไปรับประทานต่อได้ซึ่งเป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่น
ผัดสะตอที่อยากรับประทานเป็นสูตรของจังหวัดสงขลา นำสะตอมาปลอกเอาเปลือกนอกและเยื่อขาวๆที่หุ้มเมล็ดออก แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กตามยาวล้างน้ำแล้วสรงให้แห้ง



















เครื่องปรุงที่ใช้ผัดมีเครื่องแกง ประกอบด้วยพริกชี้ฟ้า หัวหอมแดง พริกขี้หนู กะปิ นำมาโขนกให้เข้ากันดีไม่ต้องละเอียดมาก และมีโปรตีนเป็นหมูสามชั้นเลือกที่มีมันน้อยๆ ถ้าใช้หมูเนื้อแดงจะไม่อร่อย นำหมูไปต้มแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆยาวๆ มักจะผัดร่วมกับกุ้งสดด้วย





นำน้ำมันใส่กะทะไม่มากนักเอาเครื่องแกงที่เตรียมไว้ลงผัดให้หอม ใส้กุ้งสด หมูลงผัดให้เข้ากันเติมน้ำใส่น้ำปลา น้ำตาล แล้วใส่สะตอ ผัดให้สะตอสลดจะช่วยลดกลิ่นฉุน ชิมให้ออกหวานๆเค็มๆ เมื่อเสร็จให้เติมรสเปรี้ยวจากมะนาวให้ออกเปรี้ยวหวานตามต้องการ ก่อนดับไฟบีบมะนาวตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นเคล็ดลับทำให้อาหารมีกลิ่นหอมของมะนาวจะน่ารับประทานมากๆๆ




มื้อกลางวันวันนั้น ก็ได้รับประทานสมใจ ขอบอกอร่อยม๊ากมากๆ เปรี้ยวหวานมีรสเค็มสอดแทรกตามด้วยรสเผ็ดเล็กๆๆ ถ้าอยากทำลองทำดู



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น